ข้อความต้อนรับ

ยินดีต้อนรับสู่สวนผัก ของคนรักสุขภาพ และผู้สนใจปลูกผักไร้ดิน (Hydroponic system)

12 มิ.ย. 2554

เทคนิคการปลูกผักสลัดด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics System)



     << วันที 1- 3 >> เมล็ดผัก อยู่ในถาดเพาะ (เลี้ยงน้ำเปล่า) ควรนำผ้าเปียกคลุมถ้วยปลูกไม่ให้โดนแสง
     << วันที่ 4 - 14 >> เปิดผ้าคลุมออก ผักสลัดเริ่มมีใบเลี้ยง นำถาดเพาะ มาวางรับแสงแดด (ระวังอย่าให้โดนฝน นะครับ) หลังจากใบเลี้ยง 2 ใบ ผักสลัดจะมี ใบจริงค่อยๆ งอกออกมาอีก2ใบ (ยังคงเลี้ยงน้ำเปล่า)
<<*** ผักสลัดมีอายุโดยรวมที่ 2 สัปดาห์ ***>>
     << วันที่ 15 - 21 >> นำผักสลัด ที่มี 4 ใบ (ใบเลี้ยง 2 ใบจริง 2) ลงแปลงปลูกและเริ่มเลี้ยงด้วยธาตุอาหารได้ แล้วนะครับ ช่วงนี้ ให้คอยสังเกต น้ำในถังสารละลายครับ โดยปกติ ผมจะเติมน้ำเปล่า ลงไป (ช่วงนี้ส่วนใหญ่น้ำจะหายไปอย่างเดียวครับ ธาตุอาหารไม่ค่อยหายไปเท่าไหร่ เนื่องจาก ผักยังต้นเล็กๆอยู่)(ช่วงนี้ที่ท้ายรางให้หนุ่นรางให้สูงขึ้นเพื่อให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านรางมีปริมาณมากอยู่ )
<<*** รวมระยะเวลาเลี้ยงผักบนราง 1 สัปดาห์ ผักสลัดมีอายุโดยรวมที่ 3 สัปดาห์ ***>>    
 << วันที่ 22 - 28 >> ผักสลัดเริ่ม มีใบใหญ่ขึ้น และราก ก็จะยาวขึ้น จนสังเกตได้ชัด ถ้าน้ำในถังสารละลายธาตุอาหารลดลง ให้ทำการเติมธาตุอาหารผสมน้ำสะอาด ตามอัตราส่วน ธาตุอาหารอย่างละ 5 ซีซี ต่อ น้ำสะอาด1ลิตร
<<*** รวมระยะเวลาเลี้ยงผักบนราง 2 สัปดาห์ ผักสลัดมีอายุโดยรวมที่ 4 สัปดาห์ ***>>
     << วันที่ 29- 42 >> รากของผักสลัดเริ่มเยอะ มาก จนระดับน้ำในรางสูงขึ้น ตอนนี้ให้เอา ที่หนุนรางน้ำออก เพื่อให้ระดับน้ำ ต่ำลง(รางเอียงมากขึ้น) ช่วงเวลานี้ให้ดูแลเรื่องน้ำในถังสารละลายเป็นพิเศษ เพราะระดับน้ำ ในถังสารละลาย จะลดไปค่อนข้างเยอะ มากกว่าช่วง2สัปดาห์แรก เนื่องจากผักมีการเจริญเติบโตและต้องการน้ำและธาตุอาหารเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย
<<*** รวมระยะเวลาเลี้ยงผักบนราง 4 สัปดาห์ ผักสลัดมีอายุโดยรวมที่ 6 สัปดาห์ ***>>
     << วันที่ 43- 45 >> หลังจากที่เราเลี้ยงผักสลัดมาจนครบอายุเก็บเกี่ยวซึ่งจะใช้เวลาโดยรวมที่ ประมาณ 6 สัปดาห์ (42 วัน) ก็ถึงเวลาที่ต้องเลี้ยงผักสลัดด้วยน้ำเปล่า โดย การถ่ายน้ำในถังสารละลายธาตุอาหารออกให้หมด (น้ำสารละลายที่ถ่ายออกมาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้โดยการนำไป รดน้ำต้นไม้) หลังจากนั้นให้ทำการเติมน้ำสะอาดลงไปในถังสารละลายแทนในระดับน้ำปกติ จากนั้นให้เลี้ยงผักสลัดด้วยน้ำเปล่าต่อไปอีก 3 วัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผักสลัดได้ใช้ ธาตุอาหารที่ตกค้างอยู่ในลำต้นให้หมดไปก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อความปลอยภัยต่อผู้บริโภค
<<<<<<<<< END >>>>>>>>>     

ปัญหาที่มักพบสำหรับผู้ที่เริ่มปลูกผักสลัดมือใหม่ มีดังนี้
เพาะกล้าสลัดไม่งอก สาเหตุอาจเป็นไปได้หลากหลาย เช่น
  • เมล็ดพันธุ์หมดอายุ (ตรวจสอบดูข้างซองที่บรรจุ จะแจ้งวันหมดอายุของเมล็ดพันธุ์) หากเมล็ดพันธุ์หมดอายุตามที่วันที่ระบุข้างซองอาจจะทำให้อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ลดลงไป
  • การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ปกติการเก็บเมล็ดพันุ์ผักสลัดที่ถูกวิธีควรเก็บในที่แห้งและเย็น (เก็บในตู้เย็นเลยครับ) หากเมล็ดพันธุ์โดนแสงแดดหรือมีความชื้นสะสมในเมล็ดพันธุ์มากแล้ว อาจทำให้ความสมบูรณ์ของเมล็ดพันธุ์ลดลง หรืออาจเกิดเชื้อราสะสมในเมล็ดพันธุ์ได้ หากนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกอาจทำให้อัตราการงอก ลดลง
  • วิธีการเพาะเมล็ดพันธุ์ผิดพลาด บางท่านอาจมีการ รดน้ำเมล็ดพันธุ์แฉะเกินไป ใส่เมล็ดพันธุ์ลงในวัสดุปลูกลึกเกินไป หรืออาจเกิดจากเมล็ดพันธุ์ไม่ได้รับความชื้นอย่างเพียงพอ
ความผิดปกติของต้นกล้า
  • ต้นกล้ามีลักษณะยืดยาวสูง ลักษณะการยืดยาว ของต้นกล้าผักสลัด จริงๆแล้วเป็นลักษณะที่ผิดครับ เนื่องจากมื่อผักโตขึ้นจะมีทรงที่ไม่สวย และจะทำให้ผักไม่แข็งแรงด้วย ลักษณะที่ดี
    ต้นผักจะต้องเป็นทรงพุ่มครับ ไม่ใช่ยืดยาว 


    ลักษณะต้นกล้าที่ยืดเกินไป ทำให้ผักขาดความแข็งแรง        
สาเหตุที่ต้นกล้ายืดยาวนั้นเกิดมาจากการที่ต้นกล้า ได้รับแสงไม่เพียงพอ จึงยืดออกไปหาแดด หรือจากการเพาะเมล็ดแล้ว นำออกตากแดดช้าเกินไป ตอนเมล็ดเริ่มงอกครั้งแรก เพาะพืชผักทุกชนิดต้องการแสงแดดเพื่อการสังเคราะห์แสง
ผักสลัดเหี่ยวเฉา มีใบเหลืองสีด


  • ตรวจสอบสภาพอากาศ ก่อนเลยครับเนื่องจากว่าอากาศบ้านเราร้อนมาก (ผมปลูกที่จังหวัดกาญจนบุรี ไม่ต้องห่วงเรื่องความร้อนครับ ปัญหานี้เจอแน่ๆ) เมื่อผักได้รับความร้อนจากแสงแดดมากก็จะทำให้ผักเกิดการคายน้ำ จนเกิดอาการขาดน้ำ ผักจึงดูดน้ำเข้าไปทดแทนมากขึ้นจนเกิดปัญหาถัดมาคือ ปัญหาการขาดธาตุอาหาร
การแก้ไข ทำได้โดยการสร้างหลังคาที่ทำด้วยแสลน ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการกรองแสง แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 50%,60%,70%,80% (ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับระดับของแสงในแต่ละพื้นที่ ) ของผมใช้ 50%ก็พอครับเราพอยากให้สลัดได้รับแสงเยอะๆ
  • อุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหาร
อุณหภูมิ ของสารละลายที่ ทำให้พืชเจริญงอกงามได้เป็นอย่างดี จะอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส (สูงสุดไม่ควรเกิน 35 องศาเซลเซียส)
          เนื่องมาจากอากาศบ้านเรา (อีกนั้นแหละครับ)ที่ร้อนมาก หากอุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้การเจริญเติบโตของผักชะงักไป เพราะอุณหภูมิสูงจะทำให้ปริมาณของออกซิเจนในน้ำลดลง จนทำให้รากพืชเกิดการขาดออกซิเจน  รากพืชอ่อนแอและถูกทำลายด้วยโรคต่างๆได้ง่าย

          เพราะฉะนั้น เราควรลดอุณหภูมิให้กับสารละลายในระดับรากพืช ซึ่งทำได้หลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือ กำลังทรัพย์ของเรา อาทิเช่น การใช้เครื่องทำความเย็นให้สารละลาย(ปลูกเพื่อการพาณิชย์) การสเปย์น้ำให้เป็นละอองฝอยให้กับใบผักเพื่อลดความร้อน(ปลูกเพื่อการพาณิชย์) การฝังถังบรรจุสารละลายไว้ในดินเพื่อลดอุณหภูมิ แต่สำหรับแปลงทดลองของผมซึ่งไม่ใหญ่มาก จึงใช้วิธีการนำขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.5 ลิตรใส่น้ำค่อนขวดแช่ไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ทิ้งไว้ข้ามคืนก็จะได้น้ำแข็งบรรจุขวด มาแช่ในถังสารละลายในช่วงที่อุณหภูมิสูงๆ( 11.00 - 14.00 น.) ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

4 ความคิดเห็น: